ลักษณะของอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านหัวเมืองจะมีลำห้วยหลวงไหลออกมา เรียกว่า ปากห้วยหลวง ตรงข้ามกับอำเภอโพนพิสัย คือ บ้านโดน ที่ขึ้นกับเมืองปากงึม ทุกวันนี้มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเมืองบาดาลที่เชื่อว่าอยู่ใต้อำเภอโพนพิสัย ว่า ในหน้าแล้งจะมีหาดทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง แต่บริเวณอำเภอโพนพิสัยหาดทรายนี้จะขึ้นอยู่ฝั่งลาว บริเวณบ้านโดน วันหนึ่งในหน้าแล้งตอนเที่ยงวัน ได้มีหญิงสาวชาวบ้านโดนคนหนึ่ง ได้ลงมาตักเพื่อไปดื่ม โดยมีกระป๋องน้ำ (หาบครุ) ลงมาที่หาดทราย เพราะบริเวณนั้นมีน้ำออกบ่อ (น้ำริน) เมื่อลงมาแล้วได้หายไป ชาวบ้านลงมาเห็นแต่กระป๋องน้ำ (หาบครุ) พ่อ แม่ ต่างก็ตามหากันแต่ไม่พบ จนครบ 7 วัน เมื่อไม่เห็นลูกสาว และคิดว่าลูกสาวคงจมน้ำตายแล้ว จึงได้พร้อมกับญาติพี่น้อง ชาวบ้านจัดทำบุญอุทิศให้ ในตอนกลางคืนก็มีหมอลำสมโภช จนเวลาต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืน ลูกสาวคนที่เข้าใจว่าจมน้ำตาย ก็ปรากฎตัวขึ้นที่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านกำลังฟังหมอลำกันอยู่ ทำให้ญาติพี่น้องแตกตื่นกันเป็นอย่างมาก บางคนก็วิ่งหนีเพราะคิดว่าเจอผีหลอกเข้า สุดท้ายลูกสาวจึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง หลังจากที่ตั้งสติได้ และแล้วญาติพี่น้องก็เข่ามาร่วมวงนั่งฟัง หญิงสาวเล่าให้ทุกคนฟังว่า "วันนั้นอากาศร้อนมาก น้ำดื่มหมดโอ่ง เมื่อลงไปเพื่อจะตักน้ำ เมื่อวางกระป๋องน้ำ (หาบครุ) ปรากฎว่าเห็นมีหมู เหมือนกับว่าได้ยกเท้าหน้าเรียกให้เข้าไปหา ตนได้เดินเข้าไปหา แล้วหมูตัวนั้นก็บอกว่าให้หลับตา จะพาลงไปเมืองบาดาล พอหลับตาได้สักครู่ หมูตัวนั้นก็บอกให้ลืมตา เมื่อลืมตาขึ้นปรากฎว่าตนมาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเมืองมนุษย์ มีดิน มีบ้านเรือนเรียงรายกันอยู่ แต่จะมีแปลกก็ตรงที่ทุกคนจะนุ่งผ้าแดง และมีผ้าพันศรีษะเป็นสีแดงเหมือนกัน โดยด้านหน้าจะปล่อยให้ผ้าแดงห้อยลงเหมือนกับหัวงู เมื่อเดินตามชายคนนั้น (กลับร่างหมู กลายเป็นคน) ก็มีชาวบ้านถามกันว่า นำมนุษย์ลงมาทำไม (เพราะกลิ่นมนุษย์ต่างกับเมืองบาดาล) ชายคนนั้นก็บอกว่าพามาเที่ยวดูเมือง ได้เดินไปเรื่อย ๆ เมื่อแหงนหน้ามองดูท้องฟ้ากลับปรากฎว่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ เหมือนสีขุ่น ๆ ของน้ำ ชายคนนั้นได้บอกว่า นี่เป็นเมืองบาดาล และเป็นเมืองหน้าด่าน ส่วนตัวเมืองหลวงนั้นยังอยู่อีกไกล และชาวเมืองจะมีงานสมโภชเมื่อถึงวันออกพรรษาของเมืองมนุษย์ ซึ่งถือว่าตลอด 3 เดือน ที่เข้าพรรษานั้นเหล่าชาวเมืองที่นี่ก็จะจำศีลปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า หลังจากที่เดินชมเมืองอยู่ไม่นาน ชายคนนั้นก็ได้นำขึ้นมาส่ง โดยการเดินมาทางเดิม ก็เป็นการเดินมาเรื่อย ๆ แต่ได้ขึ้นมายืนอยู่บริเวณหาดทรายเหมือนเดิม แล้วก็ได้ขึ้นมาหาพ่อ แม่ นี้" จากการเล่าของลูกสาว พ่อ แม่ ญาติพี่น้องจึงได้จัดงานทำบุญทำพิธีสู่ขวัญ เพื่อเป็นการต้อนรับขวัญให้กับลูกสาว ต่อมาอีก 7 วัน ลูกสาวก็ได้เจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด (เหตุการณ์นี้สอบถามได้จากผู้เฒ่า ผู้แก่ชาวโพนพิสัย คุ้มวัดศรีเกิดได้)
สิ่งต้องห้ามสิ่งหนึ่งของชาวอำเภอโพนพิสัย ก็คือ ห้ามนำมุ้งลงไปซักในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด เพราะจะทำให้บริเวณนั้นพังทลายเมื่อถึงหน้าฝน และก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อถึงหน้าฝนทุกปี หากมีคนนำมุ้งลงไปซัก หลายคนไม่เชื่อได้นำมุ้งลงไปซักในแม่น้ำโขง ก็มักพบกับสิ่งแปลก ๆ บางคนก็เห็นปลาว่ายวนเวียนไปมาอยู่บริเวณนั้น แต่หลายคนจะเห็นเป็นงูว่ายน้ำไปมาอยู่ใกล้ ๆ ที่ซักมุ้ง บางคนจะเห็นเป็นงูขนาดใหญ่ว่ายน้ำเป็นสายตรง จากท่าวัดจุมพล แล้วมุ่งหน้าไปที่ปากห้วยกุง บ้านหนองกุงฝั่งลาว จะเป็นสายน้ำ ลักษณะเช่นนี้จะเห็นในตอนเที่ยงวัน ที่วันไหนแดดร้อน ชาวบ้านเรียกสิ่งนี้ว่างูใหญ่ ที่มีชื่อว่า"นาคตาเดียว" เนื่องจากครั้งหนึ่งได้มีฝรั่งไปนอนอาบแดดอยู่หาดทรายบ้านโดน แล้วมีคนหนึ่งจมน้ำตายไป เมื่อฝรั่งขึ้นเครื่องบินดูกลับเห็นว่า มีงูใหญ่ตัวหนึ่งทับร่างอยู่ จึงได้โยนลูกระเบิดลงมาและถูกงูใหญ่ตัวนั้น ทำให้ตาข้างหนึ่งบอด (เรื่องนี้สอบถามชาวบ้านได้) จนต่อมาชาวบ้านก็จะเรียกว่า "ไอ้เดี่ยว" หรือ "นาคตาเดียว" และมักจะปรากฏให้ชาวบ้านที่ออกไปหาปลาเห็นอยู่เสมอ แต่ไม่ทำร้ายใคร ตั้งแต่ถูกลูกระเบิด บางครั้งที่บริเวณห้วยกุง (ฝั่งลาว) บางวันแดดร้อน ๆ ชาวบ้านจะเห็นน้ำพุ่งขึ้นจากห้วยเป็นลักษณะเหมือนละอองน้ำเป็นลูกใหญ่ขนาดเท่าลำตาล และเห็นหัวงูขนาดใหญ่ในละอองน้ำ เหมือนกับว่ากำลังพ่นน้ำเล่นอยู่ในห้วย สายน้ำที่มีลักษณะเหมือนงูว่ายน้ำนั้น ผู้เขียนเองก็เห็นมากับตา เพราะผู้เขียนเองได้นั่งอยู่ที่ท่าน้ำวัดจุมพล พร้อมกับพรรคพวก ขณะพักผ่อนที่ริมน้ำ นอกจากการเห็นงูใหญ่ว่ายน้ำไปมาเป็นแนวตรง ดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวโพนพิสัย ได้กระทำกันเป็นประเพณีติดต่อกันมา เพื่อเป็นการสักการะเจ้าแม่คงคา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลำแม่น้ำโขง โดยการไหลเรือไฟ ที่ทำจากกาบกล้วยใส่ขี้ใต้จุดให้ไหลไปตามน้ำ ซึ่งทำการไหลตั้งแต่ท่าน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง แต่ไม่มีการแข่งขันประกวดกันเหมือนทุกปี ซึ่งจะทำกันในวันออกพรรษาของทุกปี ซึ่งจะมีการไหลเรือไฟก็ต่อเมื่อเสร็จจากการเวียนเทียน
หลังจากการเวียนเทียนเสร็จในวันออกพรรษาที่วัดไทย (ทุกวัดจะมารวมกัน) อ.โพนพิสัย แล้ว พระเณรส่วนหนึ่ง พร้อมด้วยชาวบ้านก็จะนั่งเรือหางยาวนำเรือไฟที่ทำด้วยกาบกล้วย ต้นกล้วย ขึ้นไปปล่อยจากท่าน้ำวัดบ้านแดนเมือง ตงวัดหลวง (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ได้ขึ้นไปในเรือและก็ปล่อยเรือไฟลงมา ตอนนี้ก็จะดับเครื่องเรือแล้วปล่อยให้ไหลลงมาเรื่อย ๆ ในความเงียบนี้เมื่อมาถึงแถวท่าน้ำวัดหลวงก็จะเริ่มเห็นมีสิ่งเหมือนลูกไฟผุดขึ้นมาจากใต้น้ำ เป็นลูกสีแดงอมชมพู ขึ้นสูงจากผิวน้ำประมาณ 2-3 วา แล้วก็ดับไปในอากาศ จะขึ้นจุดละ 1 ลูก นาน ๆ จะขึ้นลูกหนึ่งและก็เรื่อยมา ที่ปากห้วยหลวงท่าวัดจุมพล และจะมีมากที่ท่าน้ำวัดไทย ซึ่งเป็นที่รวมของพระเณร และชาวบ้านที่มาร่วมกันเวียนเทียน และอีกแห่งที่เห็นลูกไฟนี้คือ ท่าน้ำวัดจอมนาง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ลูกไฟที่ว่านี้จะขึ้นก็ต่อเมื่อบนฝั่งเงียบสงัด เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ไปจนถึงเที่ยงคืนก็คืน จะเกิดขึ้นลูกเดียวโดด ๆ จะเกิดห่างกันหลายนาที และจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาเท่านั้น สมัยเมื่อปี 2516 ลงไป ลูกไฟนี้จะเกิดน้อยมาก แต่ชาวบ้านก็รอดูกันโดยการปูเสื่อนั่งรอดูอยู่ตามวัดไทย วัดจุมพล คนดูก็ไม่มาก บางคนก็หลับไปเพราะรอดูลูกไฟประหลาด ลูกไฟประหลาดที่ว่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้ว เพราะว่าคนแก่ที่มีอายุ 80 ปี (เมื่อปี พ.ศ.2540) ได้บอกว่าเมื่อตนยังเป็นเด็กก็เคยเห็นลูกไฟนี้เหมือนกัน และพ่อแม่ก็ได้บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ต่อมาเมื่อชาวอำเภอโพนพิสัย ได้ไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ และประกอบกับสื่อสารมวลชนได้ลงข่าวเมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ชาวอำเภอโพนพิสัย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นมาทุกปี จึงไม่ได้สนใจอะไรมากมาย ซึ่งผิดกับชาวต่างจังหวัดที่พากันมาดูแล้วบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ จึงมีคนมาในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดทำให้รถยนต์ติดกันเป็นแถวในวันออกพรรษาของทุกปี
จะมีลักษณะเป็นสีแดงอมชมพู พุ่งขึ้นจากใต้น้ำ บริเวณขึ้นก็ไม่แน่นอน บางครั้งขึ้นกลางแม่น้ำโขง และบางครั้งจะขึ้นใกล้ฝั่ง การเกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงลูกไฟจะเอนเข้าหาฝั่ง แต่หากขึ้นริมฝั่ง ลูกไฟจะเอนออกไปกลางโขง ในปัจจุบันนี้ ลูกไฟจะขึ้นตั้งแต่ตอนหัวค่ำ คือเวลาประมาณ 18.00 น. จะขึ้นจุดละไม่ต่ำกว่า 20 ลูก และขึ้นสูงจากผิวน้ำตั้งแต่ 50-100 เมตร จะมีลูกใหญ่ เล็กไม่แน่นอน และจุดเกิดไม่แน่นอน จะเปลี่ยนจุดเกิดไปเรื่อย ๆ แต่จะเกิดในเขตบริเวณ อ.โพนพิสัย ตลอดแนวของแม่น้ำโขง นอกจากแม่น้ำโขงแล้ว ในหนองน้ำขนาดใหญ่ก็มีลูกไฟขึ้นเช่นกัน เช่น หนองสรวง บ้านร่อนถ่อน ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี ทุกวันนี้จะมีชาวต่างจังหวัด และต่างประเทศเดินทางไปที่ อ.โพนพิสัย เพื่อดูลูกไฟประหลาดนี้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่าจากทั่วสารทิศ
ลูกไฟประหลาด นี้จะเกิดขึ้นตามบริเวณตั้งแต่ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง ปากห้วยหลวง ท่าน้ำจุมพล ท่าน้ำวัดไทย ท่าน้ำวัดจอมนาง และบริเวณปากน้ำงึม บ้านหนองกุง ต.กุดบง ท่าน้ำบ้านน้ำเป ต.รัตนวาปี ท่าน้ำบ้านท่าม่วง กิ่ง อ.รัตนวาปี และที่แก่งอาฮง บ้านอาฮง ต.หอคำ อ.บึงกาฬ และที่บริเวณท่าน้ำวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ ที่กล่าวมทั้งหมดอยู่ในจังหวัดหนองคาย แต่ก่อนจะมีคนเห็นเฉพาะที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เป็นส่วนมาก ลูกไฟที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงนี้ ที่เกิดมาเป็นเวลานาน ชาวบ้าน อ.โพนพิสัย เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค"
หลังจากที่ข่าวแพร่ออกไปเกี่ยวกับเรื่อง บั้งไฟพญานาค ทำให้ประชาชนในต่างจังหวัด และคน อ.โพนพิสัย เมื่อไปทำงานที่อื่น เมื่อวันออกพรรษาก็จะชักชวนเพื่อน ๆ มาดูสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ อ.โพนพิสัย เต็มไปด้วยผู้คน รถยนต์แทบหาที่จอดไม่ได้ ต้องจอดไว้ที่ทุ่งนาที่ทางอำเภอจัดให้จอด เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอกำลังจาก สภ.อ. และ สภ.ต. ใกล้เคียงมาช่วยในการจัดการด้านจราจร เนื่องจากมีชาวบ้านต่างจังหวัดมากันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด และในกรุงเทพฯ ก็จะมาจองห้องพักตามโรงแรมต่าง ๆ ในจังหวัดเรียกว่า ห้องเต็มวันก่อนเป็นเดือน เพราะสิ่งมหัศจรรย์อย่างนี้ถือว่าได้ดูแล้วเป็นบุญวาสนาแก่ตนเอง หรือจะพูดว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองก็ไม่ผิด เพราะสิ่งประหลาดไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก
พอถึงวันออกพรรษาของทุกปี คลื่นประชาชนจากทั่วสารทิศก็มุ่งสู่ อ.โพนพิสัย ทั้งด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถเหมา และรถประจำทาง ความหวังและจิตใจจดจ่ออยู่ที่สิ่งมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขต อ.โพนพิสัย ที่ชาวบ้านตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ว่า บั้งไฟพญานาค สาเหตุที่เรียกว่าอย่างนั้นก็คงไม่มีใครสามารถให้คำอธิบายได้มากว่านี้ แต่สาเหตุที่เรียกว่าอย่างนั้น คือ ลูกไฟนี้เกิดขึ้นมาจากใต้แม่น้ำโขง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งอุตริลงไปทำในน้ำได้ แต่หากทำได้ จะเพื่ออะไร ทำทำไม แล้วได้อะไร แต่หากทำจริง ในการทำแต่ละครั้งจะต้องใช้คนไม่น้อยกว่า 300 คน กระจายกันอยู่ใต้น้ำ อีกอย่างหนึ่งน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีขุ่น การทำงานนี้ต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะทำ แต่ถึงแม้หลายคนจะไม่เชื่อว่าเป็น บั้งไฟพญานาค ตามที่ชาว อ.โพนพิสัย เรียก แต่ก็บอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร แต่เมื่อได้เห็นกับตาแล้วค่อนข้างจะเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริง เพราะไม่มีอะไรอื่นที่จะเรียกและเกิดขึ้นได้ การเกิดของบั้งไฟพญานาค ก็จะเกิดเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น และวันออกพรรษา ( ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ) จะต้องตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของประเทศลาว บั้งไฟพญานาค นี้จะขึ้นจำนวนมาก เท่าที่ผู้เขียนสังเกตมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยการนำเสื่อไปปูคอยดูที่ท่าน้ำวัดไทยในสมัยนั้น เมื่อประมาณปี 2513 บั้งไฟพญานาคนี้จะขึ้นก็ต่อเมื่อในน้ำเงียบสงบ บนฝั่งเงียบ ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม ราว ๆ ประมาณ 3 ทุ่ม ก็จะมีลูกไฟพุ่งขึ้นมาจากใต้น้ำสูงจากผิวน้ำประมาณไม่เกิน 3 วา แต่มาในปัจจุบัน ( ปี 2530-2539 ) ลูกไฟนี้จะขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึงราว ๆ 22.00 น. ต่อจากนั้นไปก็ค่อย ๆ หมดไป แต่จะเกิดมากช่วง 18.00-21.00 น. ขึ้นแต่ละครั้ง แต่ละจุดไม่ต่ำกว่า 30-50 ลูก จะเกิดจากช่วงบริเวณ ท่าน้ำวัดหลวง ท่าน้ำปากห้วยหลวง ท่าน้ำวัดจุมพล วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นจะมีบ้างเป็นจุด ๆ ไป แต่ไม่มากเหมือนกับเกิดที่บริเวณดังกล่าว ลูกไฟดังกล่าวนับว่าเป็นลูกไฟมหัศจรรย์ ตามที่ชาวบ้าน อ.โพนพิสัย เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" เพราะสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเอื้ออำนวย และเหมาะที่จะคิดอย่างนั้น
|
จัดทำโดยครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียสตรีศรีสุริโยทัย เขตสาทร กทม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น